หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Slow life คืออะไร เทรนด์ชีวิตนี้ทำไมฮิตจัง



  Slow life คืออะไร เทรนด์ชีวิตสไตล์ใหม่ที่คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แท้จริงแล้วนิยามของ Slow life คุณกระจ่างกับมันแค่ไหน

         แอบเห็นกระแสการใช้ชีวิตแบบ Slow life ว่อนโซเซียลมีเดีย จนเริ่มอยากรู้แล้วล่ะว่า การใช้ชีวิตแบบ Slow life แท้จริงเป็นการใช้ชีวิตแบบจิบกาแฟแบรนด์ดังหรือแค่ใช้ชีวิตให้เ­­รื่อยเปื่อยมากขึ้นกันแน่ ถ้าอย่างนั้นมาไขความกระจ่างกับเว็บไซต์ this slow life ไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า

         Slow life คือ การใช้ชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีสาระ ชะลอตัวเองให้ไม่ไหลอย่างไร้ทิศทางไปตามกระแสสังคม ทำทุกอย่างด้วยสปีดที่ช้าลง เพื่อให้มีสติและซึมซาบความหมายของชีวิตได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้มี Carl Honoré บุคคลที่ Huffington Post ขนานนามว่าเป็นตัวพ่อแห่งการใช้ชีวิตแบบช้า ๆ ได้ให้นิยามของชีวิต Slow life เอาไว้



 ซึ่ง Carl Honoré ก็ยังออกตัวไว้ว่า การใช้ชีวิตแบบ Slow life ไม่ได้หมายความว่าเราใช้ชีวิตอย่างช้า ๆ แล้วจะกลายเป็นคนล้าหลังหรือดูว่าเป็นคนทึ่มไม่น่าจะทันกิน เพราะใครกันล่ะที่บอกว่า หากเราใช้ชีวิตแข่งกับเวลา ต้องแซงหน้าทุก ๆ คน แล้วชีวิตจะดีกว่า ทั้งที่จริงแล้วชีวิตที่เร่งรีบอย่างที่เคยทำมาตลอดส่งผลในด้าน­­ลบกับเราหลายอย่าง เช่น ระบบการทำงานของร่างกายถูกบังคับให้ทำงานหนักกว่าเดิม หรือยิ่งรีบยิ่งพลาดอะไรดี ๆ ในชีวิตไปไม่น้อย ดังนั้นหากเราใช้ชีวิตในทุก ๆ ย่างก้าวอย่างละเมียดละไมที่สุด ชีวิตก็น่าจะได้อะไรที่มากกว่า

         ทว่าการใช้ชีวิตแบบ Slow life ก็ไม่ได้บอกให้ช้ากับทุกสิ่ง แต่เป็นการสร้างสมดุลแห่งช่วงเวลาในชีวิตอย่างเหมาะสม อาจมีบ้างที่ชีวิตต้องการความเร่งด่วน แต่ถึงอย่างไรความเร่งด่วนคงไม่ได้จำเป็นกับชีวิตเสมอไปหรอกใช่­­ไหม ฉะนั้นสิ่งไหนควรรีบให้รีบ สิ่งไหนช้าได้ก็อย่าเร่งตัวเองเท่านั้นพอ
          และนอกจากนิยามชีวิตแบบ Slow life ของ Carl Honoré แล้ว Leo Babauta นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันเชื้อสายกวม พ่วงด้วยตำแหน่งผู้ก่อตั้งเว็บบล็อก Zen Habits ยังได้บอกเล่ากฎการใช้ชีวิตแบบ Slow life ไว้ในหนังสือที่ขายดิบขายดีเรื่อง The Power Of Less ว่า หากอยากใช้ชีวิต Slow life แบบถึงแก่นจริง ๆ คุณต้องเดินรอยตาม 10 ข้อนี้


1. ทำให้น้อย
    
          เชื่อไหมว่าหลายคนมโนไปเองว่าทุกสิ่งในชีวิตสำคัญเทียบเท่ากันหมด จนบางครั้งถึงกับจัดลำดับไม่ถูกว่าควรทำอะไรก่อนดี แต่แทนที่จะปล่อยตัวเองให้หัวหมุนไปกับภารกิจร้อยแปดพันอย่าง ลองตั้งสติแล้วลำดับความสำคัญดูว่า สิ่งไหนควรต้องทำและจำเป็นต้องรีบจัดการให้เสร็จไปก่อน ที่เหลือก็ค่อย ๆ เรียบเรียงความสำคัญทีหลัง แล้วแบ่งเวลาให้ตัวเองได้หยุดหายใจบ้าง2. อยู่กับปัจจุบัน
    
          ไม่เพียงแต่ชะลอจังหวะชีวิตของตัวเองให้ช้าลง แต่คุณควรต้องมีสติกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ให้มากที่สุด สิ่งที่เกิดไปแล้วปล่อยผ่าน สิ่งที่ยังไม่เกิดช่างมัน สนใจแค่นาทีที่กำลังเป็นไป สิ่งแวดล้อมที่กำลังนั่งหายใจอยู่ และคนที่มาร่วมหายใจอยู่ข้าง ๆ คุณเท่านั้นพอ


3. เบรกตัวเองจากโลกออนไลน์สักพัก
    
          เทคโนโลยีและโซเชียลในยุคนี้แทรกแซงเข้ามาในชีวิตเราแบบไม่ทันได้ตั้งตัว หลายคนเลยเผลอเปิดตัวเองให้พร้อมจะรับรู้ข่าวสารและติดต่อกับสังคมแทบจะตลอดเวลา เผลอทำชีวิตส่วนตัวหล่นหาย และแขวนความเป็นไปของเราไว้กับโลกออนไลน์ที่มีทั้งคนคุ้นเคยและแปลกหน้า ฉะนั้นลองชัตดาวน์ตัวเองมาอยู่ในมุมส่วนตัวสักพัก เปิดโอกาสให้ตัวเองมีเวลาเห็นและรับรู้สิ่งรอบตัวที่เคยมองข้ามไปบ้าง แค่นี้ก็ได้สัมผัสคำว่าชีวิตได้มากขึ้นอีกนิดแล้ว 4. สนใจคนรอบข้างอย่างจริงจัง
    
          ทุกวันนี้เราเข้าสังคม เรานัดพบเพื่อนเก่า ๆ และมีเวลาให้ครอบครัวเป็นประจำ แต่ส่วนมากมักจะเป็นแนวพบเจอ พูดคุยแปบ ๆ แต่ไม่ได้สื่อสารกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ เนื่องจากมีเทคโนโลยีและการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์เข้ามาแย่งพื้นที่ จากที่ควรจะนั่งสบตาและพูดคุยกันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เราก็กลับทำเพียงฟังในสิ่งที่เขาพูด และคอยหาจังหวะพูดในสิ่งที่อยากพูดกลับไป เว้นช่องว่างของความเข้าอกเข้าใจกลวงโบ๋อย่างที่ไม่มีใครรู้ตัว ฉะนั้นเปลี่ยนมาใช้ชีวิตกับคนรอบข้างแบบที่ได้สบตาคู่สนทนามากกว่าจ้องหน้าจอกันเถอะ

5. ซึมซับธรรมชาติให้มากขึ้น
    
          เพียงแค่เราใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น เราก็สามารถสัมผัสธรรมชาติได้แทบทุกวินาที โดยที่ไม่จำเป็นต้องเก็บเสื้อผ้าแล้วออกเดินทางไปหาธรรมชาติจากที่ไกล ๆ ให้เหนื่อยเลย ไม่เชื่อลองเงยหน้าจากหนังสือ มือถือ แท็บเล็ต แล้วหันออกไปมองนอกหน้าต่าง เปิดโอกาสให้ตัวเองเดินย่ำเท้าบนพื้นหญ้า ให้สายลมพัดพาผมให้ปลิว ให้ผิวได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งแทนการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ สัมผัสทุกสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติมากขึ้นอีกนิด แล้วคุณจะรู้สึกโชคดีกับการมีชีวิตอยู่มากขึ้นทุกวัน 6. กินให้ช้าลง          เคี้ยวอาหารให้ช้าลง ละเมียดละไมความอร่อยจากอาหารที่เราตักเข้าปาก ใครไม่เคยใช้ชีวิต Slow life แบบนี้คงไม่รู้หรอกว่า แค่ปรับวิถีการกินอาหารให้ช้าลงก็มีความสุขมากขึ้นเยอะแล้ว อย่างน้อยระบบย่อยอาหารของเราก็ไม่ต้องเร่งจนเหนื่อย ภายในร่างกายสมดุลขึ้น ชีวิตก็สมบูรณ์แบบได้7. ขับรถให้ช้าลง          ชีวิตที่เร่งรีบอาจทำให้คุณต้องเหยียบไมล์รถจนเคยชิน จนบางครั้งก็ไม่ต่างจากการพาตัวเองไปสุ่มเสี่ยงกับอุบัติเหตุและ ความประมาทเลยสักนิด ดังนั้นถ้าไม่ต้องรีบคงดีกว่า ขับรถให้ช้าลง มีน้ำใจบนท้องถนน และอาจตื่นให้เช้าขึ้นอีกหน่อย จะได้มีเวลาแวะในจุดที่อยากแวะแต่ไม่เคยได้ทำ เปิดประสบการณ์ชีวิตให้ตัวเองเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง

8. โลกสวยด้วยมุมมอง
    
          โลกจะสวยหรือเสื่อมอยู่ที่เราเลือกมองแบบไหน และบางครั้งการมีมุมมองแย่ ๆ กับสิ่งรอบตัวก็เป็นเพราะเรารีบเร่งจนลืมพิจารณาสิ่งนั้น ๆ ให้ดีต่างหาก ไม่ใช่เพราะสิ่งรอบตัวเราแย่เลย สักนิด ถ้าอย่างนั้นลองง่าย ๆ แค่ทำอะไรให้ช้าลงอย่างมีสติ แล้วคุณจะเห็นด้านดี ๆ จากสิ่งรอบตัววันละนิดละหน่อย เปลี่ยนโลกหม่น ๆ ให้กลายเป็นโลกที่สวยสดใส 9. ทำทีละอย่าง
    
          อย่าลืมว่าเรามีแค่ 1 สมอง กับ 2 มือเท่านั้น ดังนั้นอย่าบังคับตัวเองให้ทำอะไรพร้อมกันหลาย ๆ อย่าง เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายในชีวิตได้ จับของสิ่งเดียวด้วยสองมือยังไงก็ชัวร์กว่าแยกอีกมือไปจับของอื่น ๆ ในเวลาเดียวกันนะ 10. หายใจเข้าลึก ๆ 
    
          เคยรู้สึกเหนื่อยจนต้องหอบเพราะความเร่งรีบกันมามากแล้ว เรามาใช้ชีวิตให้ช้าลงเพื่อให้ตัว เองสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ กันบ้างดีกว่า เชื่อสิว่าเพียงแค่อยู่นิ่ง ๆ แล้วสูดลมหายใจเข้าปอดลึก ๆ ยาว ๆ สติที่บินหายไปก็จะเริ่มกลับมา ความเครียด ความโกรธ และความเหน็ดเหนื่อยก็จะหายไป

          เห็นได้ชัดว่า การใช้ชีวิตในทุกวันนี้ไม่ได้หมุนวนไปพร้อมกับปัจจัยทั้ง 4 เพียงอย่างเดียว ทว่าเราทุกคนต่างหยิบเอากระแสใหม่ ๆ ในสังคมติดไม้ติดมือไปคนละอย่างสองอย่าง แต่ไม่ว่าจะมีเทรนด์อะไรเข้ามา ขอแค่ให้เรามีสติกับการใช้ชีวิตตลอดเวลา เพียงเท่านี้ก็มีชีวิตที่สมดุลได้แล้วนะคะ

ที่มา:http://health.kapook.com/view121714.html


6 วิธีคิดบวกสไตล์คนประสบความสำเร็จ ตามรอยสิจะรออะไร



วิธีคิดบวกเพื่อให้กำลังใจตัวเอง เชื่อไหมว่าแค่มองโลกในแง่บวก ชีวิตก็เข้าใกล้ขีดความสำเร็จมากกว่าใครแล้ว

          ในโลกนี้มีทั้งสีขาวและสีดำ ดังนั้นจะให้มาโลกสวยได้ตลอดคงเป็นไปได้ยากพอสมควร และแม้แต่คนที่มีชีวิตดี๊ดี โปรไฟล์เต็มไปด้วยความสำเร็จ เขาก็มีบ้างที่เคยมองโลกในด้านลบ ทว่าคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้เขามีวิธีจัดการกับวิสัยทัศน์ของตัวเอง เพราะเขาบอกว่า เพียงแค่เราคิดบวกได้มากกว่า นั่นเท่ากับการเพิ่มพื้นที่และโอกาสให้ตัวเอง ทำให้เราคิดว่าไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ถ้าตั้งใจจริง ๆ สักตั้ง ฉะนั้นหากคุณอยากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จบ้าง Fast Company ก็แนะนำให้คิดบวกตาม 6 ข้อนี้ 
    
1. ไม่ตอกย้ำตัวเอง

          ก่อนจะก้าวหน้าไปถึงขั้นคิดบวกได้โดยไม่ต้องพยายาม Mary Jo Rapini นักจิตวิทยาให้ข้อคิดไว้ว่า อันดับแรกควรให้เกียรติตัวเองด้วยการไม่ตอกย้ำความอับอายขายหน้า หรือความผิดพลาดที่ตัวเองเคยทำมา พลาดบ้างเจ็บบ้างไม่ใช่ปัญหา ให้คิดว่านั่นคือโอกาสที่ได้เรียนรู้ และหากชีวิตเดินมาถึงทางตัน ลองหันไปทำกิจกรรมอื่นสักพัก ให้สมองได้ออกห่างจากเรื่องเดิม ๆ บ้าง เผื่อจะปิ๊งไอเดียดี ๆ และหาทางออกให้กับปัญหาเก่านั้นได้ เพราะหากย้ำคิดวนไปวนมากับสิ่งที่ตื้อไปหมดอยู่อย่างนั้น นอกจากจะไม่ได้อะไรกลับมาแล้ว ยังอาจทำให้เครียดทบทวีคูณเลยก็ได้



2. เป็นเด็กบ้างก็ได้ แต่ใจต้องหนักแน่น
  ความเป็นเด็กมีอยู่ในทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม แต่คนที่ประสบความสำเร็จเขาจำเป็นต้องจัดการกับความเป็นเด็กอย่างเหมาะสมที่สุด อย่างน้อยคุณต้องไม่เป็นเด็กงอแงกับเรื่องที่ต้องจริงจังในชีวิต ห้ามเอาแต่ใจไม่ถูกที่ถูกทาง ที่สำคัญควรต้องหนักแน่นให้สมกับความเป็นผู้ใหญ่ตามวัยวุฒิด้วย เพราะเมื่อเราเข้าสู่โหมดของความเป็นผู้ใหญ่ เราจะเปิดใจและใช้เหตุผลกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้นนั่นเอง

3. ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
 ประโยคเด็ดไว้คอยให้กำลังใจตัวเองในวันที่ต้องล้มหรือก้าวพลาดไปบ้าง คนที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ก็ยึดคตินี้ไว้เตือนใจอยู่เสมอ และเขาไม่คิดว่า การเดินถอยหลังหรือกลับไปสู่จุดเริ่มต้นครั้งแล้วครั้งเล่าจะทำให้เขาเสียเวลาในชีวิตเลย เพราะการจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงย่อมต้องสร้างรากฐานให้แน่นหนาเสียก่อน ดังนั้นอย่าปล่อยให้ตัวเองสิ้นหวังจนไม่คิดจะพยายามทำอะไรอีกต่อไปเด็ดขาด


4. ไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นคนล้มเหลว

          จำไว้ว่าเราไม่ใช่ยอดมนุษย์จากดาวดวงไหน แต่เป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่มีด้านดีเด่นและสามารถด้อยในบางเรื่องได้ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่จะไม่ถนัดในด้านใดด้านหนึ่ง แต่กลับเก่งมากในอีกหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นสิ่งไหนทำไม่ได้จริง ๆ ก็อย่าเพิ่งท้อใจ แล้วลองหาในสิ่งที่ถนัดและใช่สำหรับคุณต่อไปดีกว่า


 5. สนใจเหตุมากกว่าผล

          แค่เพียงเปลี่ยนวิธีคิดก็มีชีวิตด้านบวกได้แล้วล่ะ อย่างถ้ามีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นมาในชีวิต แทนที่เราจะมัวฟูมฟายหรือโทษชะตาฟ้าลิขิต เราควรมองหาต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดดีกว่า ลองพิจารณาที่ไปที่มาของสิ่งนั้นดี ๆ แล้วคุณจะหาทางออกให้กับปัญหาได้เอง


 6. ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ

          จงภูมิใจกับทุกความผิดพลาดที่ผ่านมา เพราะมันแสดงให้เห็นว่าคุณได้ลงมือทำอะไรหลายต่อหลายสิ่งแล้ว ดังนั้นให้อภัยกับสิ่งที่ทำพลั้งพลาดไป  แล้วมุ่งมั่นตั้งใจลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง


          สุดท้ายแล้วความคิดของเราเป็นใหญ่ที่สุด คุณจะเดินไปถูกทางหรือต้องเคว้งคว้างอยู่กลางทาง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความคิดของตัวคุณเองแทบทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเป็นคนคิดบวกมากกว่าคิดติดลบ ก็ถือว่าชีวิตมีกำไรมากกว่าขาดทุนแล้วล่ะเนอะ


ที่มา:http://health.kapook.com/view124176.html



วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โรคกลัวผู้ชาย คืออะไร อาการแบบไหนถึงเรียกว่าป่วย


          
         โรคกลัวผู้ชาย (Androphobia) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกซึ่งผสมกันระหว่างคำว่า Andras ที่แปลว่าผู้ชาย กับคำว่า Phobos ที่แปลว่าความกลัว โดยหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีโรคกลัวผู้ชายอยู่ร่วมกันกับเราในจักรวาลนี้ด้วย แต่อยากบอกให้รู้ไว้เลยค่ะว่า โรคกลัวผู้ชายได้สร้างความทรมานและความลำบากในการใช้ชีวิตให้ใครต่อใครมาไม่น้อย และส่วนมากผู้ป่วยโรคกลัวผู้ชายเองก็อาจไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคนี้อีกด้วย ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักโรคกลัวผู้ชาย (Androphobia) กันให้มากขึ้น อย่างน้อยก็ได้สำรวจความผิดปกติของตัวเอง

โรคกลัวผู้ชาย (Androphobia) คือโรคอะไรกันแน่

          โรคกลัวผู้ชาย จัดว่าเป็นโรคกลัวอะไรที่เฉพาะเจาะจง (Specific Phobia) เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนมากจะพบในวัยรุ่นผู้หญิงมากที่สุด โดยผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการตั้งแต่วัยเด็ก ลากยาวไปจนถึงตอนโต ซึ่งโดยส่วนมากผู้ป่วยโรคกลัวผู้ชายจะใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทว่าผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับเพศชาย บางรายจะหวาดกลัวจนไม่กล้าคบค้ากับผู้ชายเลยสักคน ยกเว้นเพียงญาติหรือเพื่อนสนิทมาก ๆ เท่านั้น 

          
ทว่าในบางกรณีอาจมีเพื่อนผู้ชายอยู่บ้าง แต่ผู้ป่วยจะพยายามรักษาระยะห่างระหว่างเพื่อนชายกับตัวเองให้มากที่สุด พูดง่าย ๆ ว่ายอมเป็นแค่คนรู้จักผ่าน ๆ กับเพศชาย แต่ไม่ยอมสนิทสนมหรือสานความสัมพันธ์ใด ๆ ทั้งสิ้น และหากมีผู้ชายมาเข้าใกล้ ผู้ป่วยจะแสดงออกถึงความหวาดกลัว และรู้สึกไม่ดีอย่างมากจนอาจร้องไห้ฟูมฟายหรือเสียสติไปชั่วขณะ


โรคกลัวผู้ชาย สาเหตุเกิดจากอะไร

          
โรคกลัวผู้ชายก็คล้ายกับโรคกลัวชนิดอื่น ๆ ที่มีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย แต่โดยส่วนใหญ่อาจเกิดจากประสบการณ์เลวร้ายที่จำฝังใจมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มีกรณีที่ถูกกระทำชำเราหรือถูกทำร้ายโดยผู้ชายในวัยเด็ก โดยความรู้สึกกลัวขั้นสูงสุดจะถูกบันทึกเหตุการณ์และสิ่งที่
ตัวเองรู้สึก ณ ขณะนั้นไว้ที่ต่อมใต้สมองส่วนกลาง (Hypothalamus) แล้วจะฉายเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ อยู่ในหัว จนแสดงออกเป็นความกลัวที่ติดตัวมาโดยตลอด

          ทั้งนี้โรคกลัวผู้ชายยังมีสาเหตุได้จากการปลูกฝังคำสอนในเรื่องห้ามเข้าใกล้ผู้ชาย (โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง) หรือการได้รู้เห็นเหตุการณ์น่ากลัว ๆ มาจากสื่อ ละคร หนัง ข่าว หรือการบอกเล่าของผู้อื่นจนก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวผู้ชายได้อีกด้วย

โรคกลัวผู้ชาย อาการเป็นอย่างไร

          
อาการของผู้ป่วยโรคกลัวผู้ชาย สามารถแบ่งออกได้ 2 ส่วน คือ อาการที่แสดงออกทางร่างกาย และอาการที่แสดงออกทางจิตใจ ซึ่งหากเข้าใกล้หรือเจอกับผู้ชาย จะมีอาการดังนี้

1. อาการที่แสดงออกทางร่างกาย

          
 หายใจถี่เร็ว

          
 ชีพจรเต้นเร็วและแรงขึ้น

          
 ตัวสั่นเทา

          
 เหงื่อแตก

          
 วิงเวียน หน้ามืด บางรายอาจเป็นลม

          
 หายใจไม่สะดวก

          
 แน่นหน้าอก 

          
 คลื่นไส้ อาเจียน

2. อาการที่แสดงออกทางจิตใจ

          
 รู้สึกกลัวจับใจ รู้สึกเหมือนตัวเองเข้าใกล้ความตาย

          
 รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกคุกคาม

          
 ตื่นตระหนก

          
 วิตกกังวลอย่างมาก

          
 รู้สึกสูญเสียการควบคุมตัวเอง

          
 รู้สึกอับอายและอยากหนีไปจากสถานการณ์ตรงหน้า

            
          
อาการป่วยของโรคกลัวผู้ชายนับเป็นอุปสรรคชิ้นโตของชีวิต ก่อให้เกิดความรู้สึกตึงเครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และนำไปสู่ความรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง รวมทั้งรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักจะเก็บงำอาการป่วยของตัวเองไว้ และจะยอมแสดงอาการออกมาก็ต่อเมื่อเจอเข้ากับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกทนไม่ไหวจริง ๆ 


วิธีรักษาโรคกลัวผู้ชาย

          โรคกลัวผู้ชายสามารถรักษาให้หายได้ โดยวิธีรักษาโรคกลัวผู้ชายสามารถทำได้ดังนี้

1. บำบัดโดยใช้เทคนิคการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Graded Exposure Therapy)

          
วิธีนี้เป็นพฤติกรรมบำบัดที่จิตแพทย์นิยมใช้ โดยหลักในการรักษาจะให้ผู้ป่วยเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองกลัวจนเกิดเป็นความเคยชิน โดยจะเริ่มฝึกเรียงลำดับจากความกลัวน้อยไปหาความกลัวที่มากขึ้น เช่น เริ่มจากดูรูปถ่ายผู้ชาย หรือจินตนาการว่าตัวเองกำลังคุยกับผู้ชายสักคน เป็นต้น 

          
ซึ่งในแต่ละครั้งผู้ป่วยต้องอดทนกับความกลัวนั้นให้ถึงที่สุด ฝึกเผชิญหน้าอย่างนี้ไปบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จนอาการกลัวลดลงเป็นลำดับ

2. สะกดจิตบำบัด (Hypnotherapy)

          การรักษาด้วยวิธีสะกดจิตบำบัดอาจทำแบบเป็นกลุ่มหรือแบบเดี่ยวก็ได้ โดยนักสะกดจิตจะโน้มน้าวให้ผู้ป่วยทบทวนความกลัวในจิตใต้สำนึกของตัวเอง และแนะแนวให้กำจัดความกลัวนั้นอย่างถูกต้อง ซึ่งนับว่าการรักษาแบบสะกดจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยกำจัดความกลัวของตัวเองได้ชนิดที่เรียกว่าถอนรากถอนโคนเลยทีเดียว

3. บำบัดด้วยการปรับทัศนคติ

          
ในรายที่ความกลัวมีไม่มาก จิตแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเขียนบันทึกความกลัวของตัวเองเป็นข้อ ๆ และค่อยปรับทัศนคติของผู้ป่วยในแง่บวกมากขึ้น เช่น เมื่อผู้ป่วยเขียนว่า "ไม่อยากเข้าใกล้ผู้ชาย เพราะผู้ชายอาจทำร้ายฉันได้" จิตแพทย์จะให้เรียงประโยคใหม่เป็น "ความกลัวของฉันเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ ผู้ชายอาจน่าคบหาก็ได้" เป็นต้น
             
4. รักษาด้วยยา

          การรักษาโรคกลัวผู้ชายด้วยยาจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่จิตแพทย์จะใช้ เนื่องจากยาจะให้ผลการรักษาในระยะสั้น และมักจะมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยพอสมควร ดังนั้นการรักษาโรคกลัวผู้ชายด้วยยาจึงไม่เป็นที่แนะนำเท่าไร

ที่มา:http://health.kapook.com/view129782.html