หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โรคกลัวผู้ชาย คืออะไร อาการแบบไหนถึงเรียกว่าป่วย


          
         โรคกลัวผู้ชาย (Androphobia) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกซึ่งผสมกันระหว่างคำว่า Andras ที่แปลว่าผู้ชาย กับคำว่า Phobos ที่แปลว่าความกลัว โดยหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีโรคกลัวผู้ชายอยู่ร่วมกันกับเราในจักรวาลนี้ด้วย แต่อยากบอกให้รู้ไว้เลยค่ะว่า โรคกลัวผู้ชายได้สร้างความทรมานและความลำบากในการใช้ชีวิตให้ใครต่อใครมาไม่น้อย และส่วนมากผู้ป่วยโรคกลัวผู้ชายเองก็อาจไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคนี้อีกด้วย ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักโรคกลัวผู้ชาย (Androphobia) กันให้มากขึ้น อย่างน้อยก็ได้สำรวจความผิดปกติของตัวเอง

โรคกลัวผู้ชาย (Androphobia) คือโรคอะไรกันแน่

          โรคกลัวผู้ชาย จัดว่าเป็นโรคกลัวอะไรที่เฉพาะเจาะจง (Specific Phobia) เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนมากจะพบในวัยรุ่นผู้หญิงมากที่สุด โดยผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการตั้งแต่วัยเด็ก ลากยาวไปจนถึงตอนโต ซึ่งโดยส่วนมากผู้ป่วยโรคกลัวผู้ชายจะใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทว่าผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับเพศชาย บางรายจะหวาดกลัวจนไม่กล้าคบค้ากับผู้ชายเลยสักคน ยกเว้นเพียงญาติหรือเพื่อนสนิทมาก ๆ เท่านั้น 

          
ทว่าในบางกรณีอาจมีเพื่อนผู้ชายอยู่บ้าง แต่ผู้ป่วยจะพยายามรักษาระยะห่างระหว่างเพื่อนชายกับตัวเองให้มากที่สุด พูดง่าย ๆ ว่ายอมเป็นแค่คนรู้จักผ่าน ๆ กับเพศชาย แต่ไม่ยอมสนิทสนมหรือสานความสัมพันธ์ใด ๆ ทั้งสิ้น และหากมีผู้ชายมาเข้าใกล้ ผู้ป่วยจะแสดงออกถึงความหวาดกลัว และรู้สึกไม่ดีอย่างมากจนอาจร้องไห้ฟูมฟายหรือเสียสติไปชั่วขณะ


โรคกลัวผู้ชาย สาเหตุเกิดจากอะไร

          
โรคกลัวผู้ชายก็คล้ายกับโรคกลัวชนิดอื่น ๆ ที่มีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย แต่โดยส่วนใหญ่อาจเกิดจากประสบการณ์เลวร้ายที่จำฝังใจมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มีกรณีที่ถูกกระทำชำเราหรือถูกทำร้ายโดยผู้ชายในวัยเด็ก โดยความรู้สึกกลัวขั้นสูงสุดจะถูกบันทึกเหตุการณ์และสิ่งที่
ตัวเองรู้สึก ณ ขณะนั้นไว้ที่ต่อมใต้สมองส่วนกลาง (Hypothalamus) แล้วจะฉายเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ อยู่ในหัว จนแสดงออกเป็นความกลัวที่ติดตัวมาโดยตลอด

          ทั้งนี้โรคกลัวผู้ชายยังมีสาเหตุได้จากการปลูกฝังคำสอนในเรื่องห้ามเข้าใกล้ผู้ชาย (โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง) หรือการได้รู้เห็นเหตุการณ์น่ากลัว ๆ มาจากสื่อ ละคร หนัง ข่าว หรือการบอกเล่าของผู้อื่นจนก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวผู้ชายได้อีกด้วย

โรคกลัวผู้ชาย อาการเป็นอย่างไร

          
อาการของผู้ป่วยโรคกลัวผู้ชาย สามารถแบ่งออกได้ 2 ส่วน คือ อาการที่แสดงออกทางร่างกาย และอาการที่แสดงออกทางจิตใจ ซึ่งหากเข้าใกล้หรือเจอกับผู้ชาย จะมีอาการดังนี้

1. อาการที่แสดงออกทางร่างกาย

          
 หายใจถี่เร็ว

          
 ชีพจรเต้นเร็วและแรงขึ้น

          
 ตัวสั่นเทา

          
 เหงื่อแตก

          
 วิงเวียน หน้ามืด บางรายอาจเป็นลม

          
 หายใจไม่สะดวก

          
 แน่นหน้าอก 

          
 คลื่นไส้ อาเจียน

2. อาการที่แสดงออกทางจิตใจ

          
 รู้สึกกลัวจับใจ รู้สึกเหมือนตัวเองเข้าใกล้ความตาย

          
 รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกคุกคาม

          
 ตื่นตระหนก

          
 วิตกกังวลอย่างมาก

          
 รู้สึกสูญเสียการควบคุมตัวเอง

          
 รู้สึกอับอายและอยากหนีไปจากสถานการณ์ตรงหน้า

            
          
อาการป่วยของโรคกลัวผู้ชายนับเป็นอุปสรรคชิ้นโตของชีวิต ก่อให้เกิดความรู้สึกตึงเครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และนำไปสู่ความรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง รวมทั้งรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักจะเก็บงำอาการป่วยของตัวเองไว้ และจะยอมแสดงอาการออกมาก็ต่อเมื่อเจอเข้ากับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกทนไม่ไหวจริง ๆ 


วิธีรักษาโรคกลัวผู้ชาย

          โรคกลัวผู้ชายสามารถรักษาให้หายได้ โดยวิธีรักษาโรคกลัวผู้ชายสามารถทำได้ดังนี้

1. บำบัดโดยใช้เทคนิคการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Graded Exposure Therapy)

          
วิธีนี้เป็นพฤติกรรมบำบัดที่จิตแพทย์นิยมใช้ โดยหลักในการรักษาจะให้ผู้ป่วยเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองกลัวจนเกิดเป็นความเคยชิน โดยจะเริ่มฝึกเรียงลำดับจากความกลัวน้อยไปหาความกลัวที่มากขึ้น เช่น เริ่มจากดูรูปถ่ายผู้ชาย หรือจินตนาการว่าตัวเองกำลังคุยกับผู้ชายสักคน เป็นต้น 

          
ซึ่งในแต่ละครั้งผู้ป่วยต้องอดทนกับความกลัวนั้นให้ถึงที่สุด ฝึกเผชิญหน้าอย่างนี้ไปบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จนอาการกลัวลดลงเป็นลำดับ

2. สะกดจิตบำบัด (Hypnotherapy)

          การรักษาด้วยวิธีสะกดจิตบำบัดอาจทำแบบเป็นกลุ่มหรือแบบเดี่ยวก็ได้ โดยนักสะกดจิตจะโน้มน้าวให้ผู้ป่วยทบทวนความกลัวในจิตใต้สำนึกของตัวเอง และแนะแนวให้กำจัดความกลัวนั้นอย่างถูกต้อง ซึ่งนับว่าการรักษาแบบสะกดจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยกำจัดความกลัวของตัวเองได้ชนิดที่เรียกว่าถอนรากถอนโคนเลยทีเดียว

3. บำบัดด้วยการปรับทัศนคติ

          
ในรายที่ความกลัวมีไม่มาก จิตแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเขียนบันทึกความกลัวของตัวเองเป็นข้อ ๆ และค่อยปรับทัศนคติของผู้ป่วยในแง่บวกมากขึ้น เช่น เมื่อผู้ป่วยเขียนว่า "ไม่อยากเข้าใกล้ผู้ชาย เพราะผู้ชายอาจทำร้ายฉันได้" จิตแพทย์จะให้เรียงประโยคใหม่เป็น "ความกลัวของฉันเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ ผู้ชายอาจน่าคบหาก็ได้" เป็นต้น
             
4. รักษาด้วยยา

          การรักษาโรคกลัวผู้ชายด้วยยาจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่จิตแพทย์จะใช้ เนื่องจากยาจะให้ผลการรักษาในระยะสั้น และมักจะมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยพอสมควร ดังนั้นการรักษาโรคกลัวผู้ชายด้วยยาจึงไม่เป็นที่แนะนำเท่าไร

ที่มา:http://health.kapook.com/view129782.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น